จากนโยบายของ ปตท. ที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง โดยในปี 2537 ได้อาสาปลูกป่า 1 ล้านไร่ ทั่วประเทศ ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 จากผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานตลอด 25 ปี ในการฟื้นฟูป่าทั่วประเทศกว่า 1 ล้านไร่ ปตท. ได้พัฒนาต่อยอดและจัดตั้ง “สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.” ดำเนินภารกิจในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ ส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายเพื่อดูแลป่าอย่างยั่งยืน ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 3 แห่ง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณชน โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ จัดตั้งโครงการ “ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี” จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นบนที่ดินของ ปตท. อีก 2 แห่ง ได้แก่ “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” จ.ระยอง และ “ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง” จ.กรุงเทพฯ
ปตท. ตั้งใจให้ “ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง” เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องป่าและระบบนิเวศที่ผสมผสานความสวยงามด้านภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึงเป็นพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ บนที่ดินของ ปตท. จำนวน 12 ไร่ จากเดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นที่ทิ้งขยะ โดยมีแนวความคิดที่จะ “สร้างป่าให้กับคนกรุงเทพฯ” โดยนำองค์ความรู้จากการปลูกป่ามาแล้ว 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ มาต่อยอดเป็น “ป่านิเวศ” ที่จำลองป่ากรุงเทพฯในอดีต มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ดั้งเดิมและพันธุ์ไม้หายากกว่า 270 ชนิด โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีการปลูกป่านิเวศ ของ ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ ร่วมกับองค์ความรู้การปลูกป่าของ ปตท. ออกแบบจัดสรรสัดส่วนพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่ปลูกป่ากว่า 9 ไร่ หรือ 75% พื้นที่แหล่งน้ำ 1 ไร่ ประมาณ 10 % และพื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้ 2 ไร่ ประมาณ 15 % ทำให้ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อให้คนกรุง หรือเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในเมือง ได้มีโอกาสรู้จักและสัมผัสป่าอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องเดินทางไกล และได้ตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ผู้ที่เข้าชมศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงจะได้อะไรกลับไปบ้าง
ให้คุณค่าในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำรัส “ปลูกป่าในใจคน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั้งหลายได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ และซึมซับเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับคุณค่าของระบบนิเวศป่าไม้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นเตือนให้คนในเมืองหลวงเกิดความสำนึกรักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก และหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น
เรียนรู้การปลูกป่านิเวศ ซึ่งหมายถึง “ป่าที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงสภาพป่าธรรมชาติ” โดยประยุกต์การสร้างป่านิเวศตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยิวากิ (Miyawaki’s Method) มีหลักการ คือ การสร้างป่าธรรมชาติดั้งเดิมด้วยพันธุ์ไม้ธรรมชาติดั้งเดิม (Building Native forest of Native trees) และจัดการโดยใช้แนวคิด “ การจัดการที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้ป่าจัดการตัวเอง (No management is The best management)” ร่วมกับองค์ความรู้การปลูกป่าของ ปตท. ในการวิเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพดิน ศึกษาพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ รวมถึงการเลือกใช้พันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพของดิน
กิจกรรมการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง มีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับป่าไม้ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมประจำทุก ๆ เดือน รวมถึงสามารถเข้ามาติดต่อทำกิจกรรมธรรมชาติอื่น ๆ ตามที่สนใจ เช่น เกมเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิต, กิจกรรม Workshop ประดิษฐ์สิ่งของธรรมชาติ, หรือกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเรียนรู้ถึงการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างรู้คุณค่า และร่วมตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง
สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่โทรศัพท์ 0 2136 6380 รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่าน Facebook ของศูนย์ฯ “ ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ” , Instagram: pttmetroforest และ Line@ : @pttmetroforest รวมถึงสามารถติดต่อเพื่อทำกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติอื่น ๆ ตามที่สนใจ